เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 15. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
ว่าด้วยการทำบุญมุ่งนิพพาน
คำว่า นรชน...พึงน้อมใจไปในนิพพาน อธิบายว่า คนบางคนในโลกนี้
เมื่อให้ทาน สมาทานศีล ทำอุโบสถกรรม ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ กวาดบริเวณวัด ไหว้เจดีย์
วางของหอมและมาลาที่เจดีย์ ทำประทักษิณเจดีย์ บำเพ็ญกุสลาภิสังขารอย่างใด
อย่างหนึ่ง อันเป็นไปในไตรธาตุ1 ก็มิใช่เพราะเหตุแห่งคติ มิใช่เพราะเหตุแห่งการถือ
กำเนิด มิใช่เพราะเหตุแห่งปฏิสนธิ มิใช่เพราะเหตุแห่งภพ มิใช่เพราะเหตุแห่งสงสาร
มิใช่เพราะเหตุแห่งวัฏฏะ เป็นผู้ประสงค์จะพรากจากทุกข์ เอนไปในนิพพาน โอนไป
ในนิพพาน โน้มไปในนิพพาน บำเพ็ญกุศลทั้งปวงนั้น รวมความว่า นรชน... พึงน้อม
ใจไปในนิพพาน อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง นรชนบังคับจิตให้กลับจากสังขารธาตุทั้งปวง น้อมจิตเข้าไปใน
อมตธาตุว่า "ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดทิ้งอุปธิทั้งหมด เป็นที่สิ้น
ตัณหา เป็นที่คลายกำหนัด เป็นที่ดับกิเลส เป็นที่เย็นสนิท เป็นธรรมชาติสงบ
ประณีต" รวมความว่า นรชน... พึงน้อมใจไปในนิพพาน อย่างนี้บ้าง
บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่ให้ทาน
เพราะเหตุแห่งสุขอันก่ออุปธิเพื่อภพใหม่
แต่บัณฑิตเหล่านั้นย่อมให้ทานเพื่อความหมดสิ้นอุปธิ
เพื่อนิพพานอันไม่มีภพใหม่
บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่เจริญฌาน
เพราะเหตุแห่งสุขอันก่ออุปธิเพื่อภพใหม่
แต่บัณฑิตเหล่านั้นย่อมเจริญฌานเพื่อความหมดสิ้นอุปธิ
เพื่อนิพพานอันไม่มีภพใหม่
บัณฑิตเหล่านั้น มีใจมุ่งนิพพาน
มีจิตโน้มไปในนิพพานนั้น
มีจิตน้อมไปในนิพพานนั้นให้ทาน

เชิงอรรถ :
1 ไตรธาตุ ดูเชิงอรรถข้อ 135/373

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :506 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 15. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
บัณฑิตเหล่านั้นย่อมเป็นผู้มีนิพพานเป็นเบื้องหน้า
เหมือนแม่น้ำไหลลงสู่ทะเล ฉะนั้น
รวมความว่า นรชน... พึงน้อมใจไปในนิพพาน ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
นรชนพึงควบคุมความหลับ ความเกียจคร้าน
ความย่อท้อ ไม่พึงอยู่ด้วยความประมาท
ไม่พึงตั้งอยู่ในความดูหมิ่น พึงน้อมใจไปในนิพพาน
[178] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
นรชนไม่พึงมุ่งมั่นในความเป็นคนพูดเท็จ
ไม่พึงทำความเสน่หาในรูป พึงกำหนดรู้ความถือตัว
และพึงประพฤติละเว้นจากความผลุนผลัน
คำว่า นรชนไม่พึงมุ่งมั่นในความเป็นคนพูดเท็จ อธิบายว่า มุสาวาทตรัส
เรียกว่า ความเป็นคนพูดเท็จ คนบางคนในโลกนี้ อยู่ในสภา อยู่ในบริษัท อยู่ท่ามกลาง
ญาติ อยู่ท่ามกลางหมู่ทหาร หรืออยู่ท่ามกลางราชสำนัก ถูกเขาอ้างเป็นพยาน
ซักถามว่า "ท่านรู้สิ่งใด จงกล่าวสิ่งนั้น" บุคคลนั้นไม่รู้ก็พูดว่า "รู้" หรือรู้ก็พูดว่า
"ไม่รู้" ไม่เห็นก็พูดว่า "เห็น" หรือเห็นก็พูดว่า "ไม่เห็น" พูดเท็จทั้งที่รู้ เพราะตน
เป็นเหตุบ้าง เพราะบุคคลอื่นเป็นเหตุบ้าง เพราะเหตุคือเห็นแก่อามิสเล็กน้อยบ้าง
นี้ตรัสเรียกว่า ความเป็นคนพูดเท็จ
อีกนัยหนึ่ง มุสาวาทมีได้ด้วยอาการ 3 อย่าง... ด้วยอาการ 4 อย่าง...
ด้วยอาการ 5 อย่าง... ด้วยอาการ 6 อย่าง... ด้วยอาการ 7 อย่าง... ด้วยอาการ
8 อย่าง... มุสาวาทมีได้ด้วยอาการ 8 อย่างเหล่านี้
คำว่า นรชนไม่พึงมุ่งมั่นในความเป็นคนพูดเท็จ อธิบายว่า ไม่พึงดำเนินไป
ไม่พึงมุ่งมั่น ไม่พึงนำไป ไม่พึงพา(ตน) ไปในความเป็นคนพูดเท็จ คือ พึงละ บรรเทา
ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งความเป็นคนพูดเท็จ ได้แก่ พึงเป็นผู้งด งดเว้น
เว้นขาด ออก สลัดออก หลุดพ้น ไม่เกี่ยวข้องกับความเป็นคนพูดเท็จ มีใจเป็น
อิสระ(จากกิเลส)อยู่ รวมความว่า นรชนไม่พึงมุ่งมั่นในความเป็นคนพูดเท็จ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :507 }